โปรแกรมการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก
โปรแกรมการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัดหัวใจ หลอดเลือดและทรวงอก (Pre-operative program)
ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือดที่ได้รับการรักษาโดยวิธีผ่าตัด มีแนวโน้มที่จะมีภาวะแทรกซ้อนของระบบทางเดินหายใจ ได้แก่ ปอดอักเสบ และปอดแฟบ ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลังการผ่าตัดผู้ป่วยมีอาการปวดแผล และการดมยาสลบ ทำให้ผู้ป่วยหลังผ่าตัด มีการสร้างเสมหะเยอะกว่าปกติ ทำให้มีเสมหะคั่งค้างในปอด อีกทั้งการหายใจได้สั้นและตื้น จึงมีโอกาสที่แฟบ ปอดมีการติดเชื้อ และกลายเป็นโรคปอดบวมในที่สุด ส่งผลให้การฟื้นตัวเป็นไปได้ช้า ต้องพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานขึ้น ตลอดจนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาตัวสูงขึ้นด้วย ดังนั้นการฝึกหายใจและการฝึกไอแบบมีประสิทธิภาพ รวมถึงการฝึกการเคลื่อนไหวหลังผ่าตัดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนหลังการผ่าตัดได้
1. การฝึกหายใจ
วิธีที่ 1 การฝึกหายใจโดยใช้กล้ามเนื้อกะบังลม
- วางมือทั้ง 2 ข้างบนท้องบริเวณใต้ลิ้นปี่
- สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก และให้ท้องป่องออก
- เป่าลมหายใจออกโดยวิธีห่อปากเป่าลมออกช้าๆ ให้ท้องแฟบลงช้าๆ
- หายใจเข้าและออกซ้ำกัน 6-10 ครั้ง/รอบ อย่างน้อย 3 รอบในทุกๆ ชั่วโมงที่ตื่น
วิธีที่ 2 การฝึกหายใจของกลีบปอดส่วนล่าง
- วางมือทั้ง 2 ข้างที่ชายโครงด้านล่าง
- สูดลมหายใจเข้าลึกๆ ช้าๆ ทางจมูก ให้ซี่โครงบานออก
- เป่าลมหายใจโดยการห่อปาก เป่าลมออกช้าๆ ให้ซี่โครงแฟบลง
- หายใจเข้าและออกซ้ำกัน 6-10 ครั้ง/รอบ อย่างน้อย 3 รอบในทุกๆ ชั่วโมงที่ตื่น
2. การฝึกการเคลื่อนไหวของทรวงอก
เพื่อช่วยให้เกิดการขยายตัวของทรวงอกเพิ่มขึ้น เพิ่มการระบายอากาศของปอดให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพหลังการผ่าตัด และป้องกันภาวะข้อไหล่ติดแข็งหลังผ่าตัดทรวงอก นอกจากนี้การฝึกเคลื่อนไหวของทรวงอกยังเป็นวิธีที่ช่วยลดความตึงและเพิ่มความยืดหยุ่นของพังผืดที่เกิดขึ้นกับแผลหลังผ่าตัดได้อีกด้วย
วิธีฝึก
- ยกแขนขึ้นพร้อมกันสองข้างพร้อมกับค่อยๆสูดลมหายใจเข้าทางจมูกช้าๆ
- หลังจากนั้นเอาแขนลงพร้อมกับค่อยๆเป่าลมออกทางปากช้าๆ ทำซ้ำ 5-10 ครั้ง/รอบ 1-2 รอบ
3. การฝึกไอ
วิธีฝึก
- ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหรือนั่งโน้มตัวมาด้านหน้าเล็กน้อย
- ใช้หมอนหรือผ้าห่มวางบนแผลผ่าตัด
- วางมือทั้ง 2 ข้างบนหมอนหรือผ้าห่ม กดบริเวณเหนือแผล และใช้ 2 แขน โอบรอบๆ ทรวงอก
- สูดลมหายใจเข้าลึกๆ กลั้นหายใจไว้ประมาณ 1-2 วินาที พร้อมไอออกมาแรงๆ 1-2 ครั้ง
4. การออกกำลังกายขา
การออกกำลังกายขามีความสำคัญเช่นกัน เพื่อให้การฟื้นตัวเป็นไปได้เร็วขึ้น เตรียมพร้อมเพื่อการลุกขึ้น ยืน เดินและการฟื้นฟูหัวใจหลังการผ่าตัด โดยผู้ป่วยสามารถเริ่มออกกำลังกายขาได้หลังจากวันผ่าตัดเป็นต้นไป เพื่อเตรียมพร้อมสู่การออกกำลังกายในระดับที่หนักขึ้น เช่น การนั่ง หรือการเดินต่อไป ทั้งนี้การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูหัวใจผู้ป่วยจะได้รับการดูแลจากนักกายภาพบำบัดฟื้นฟูหัวใจเพิ่มเติมอีกครั้งหลังการผ่าตัด
ท่าที่ 1 กระดกข้อเท้า
- ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน หรือนั่ง
- กระดกข้อเท้าขึ้น-ลง สลับกันไปเรื่อยๆ
ท่าที่ 2 งอ-เหยียดข้อเข่าและข้อสะโพก
- ผู้ป่วยอยู่ในท่านอน หรือนั่งหลังพิงเตียง
- งอเข่าและสะโพก ลากส้นเท้าเข้าช้าๆ จากนั้นเหยียดเข่าและสะโพก ลากส้นเท้าออกช้าๆ สลับกันทีละข้าง ทำซ้ำ 10 ครั้ง/รอบ 1-2 รอบ
5. การฝึกการลุกนั่งห้อยขา
ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ควรจะลุกนั่งโดยการตะแคงตัวก่อนเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการปวดแผลและปวดหลังได้ทั้งนี้ผู้ป่วยไม่ควรลุกขึ้นจากท่านอนหงายและใช้มือดึงข้างเตียง และหากญาติต้องการช่วยไม่ควรดึงแขนผู้ป่วยขึ้น ควรสอดมือเข้าประคองที่ด้านหลังบริเวณสะบักขึ้น
วิธีฝึก
- ให้ผู้ป่วยตะแคงตัวไปด้านที่ต้องการจะลุกขึ้น
- งอเข่าและสะโพกทั้ง 2 ข้าง
- หย่อนขาทั้ง 2 ข้างลงจากเตียงและใช้ข้อศอกยันตัวลุกขึ้นนั่ง