การฟื้นฟูหัวใจระยะที่ 1
การฟื้นฟูหัวใจเป็นโปรแกรมระยะยาวที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ เพื่อให้ผู้ป่วยตระหนักถึงการกำจัดปัจจัยเสี่ยง (Risk factors)
เพื่อป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดซ้ำอีก รวมถึงมีการออกกำลังกายที่เหมาะสม ซึ่งการออกแบบโปรแกรมฟื้นฟูหัวใจนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟู หรือคงไว้ซึ่งสมรรถภาพทางร่างกาย (Physical) จิตใจ (Psychological) ลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจ และช่วยให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตในสังคม หรือกลับไปทำงานได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้การฟื้นฟูหัวใจที่มีประสิทธิภาพต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย ทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ และบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟู ส่งเสริมสมรรถภาพหัวใจ ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ นักกายภาพบำบัด พยาบาล เภสัชกร นักโภชนาการและผู้เชี่ยวชาญด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การฟื้นฟูหัวใจมีเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาวในด้านการออกกำลังกาย การให้คำปรึกษา คำแนะนำเกี่ยวกับโรคหัวใจและการใช้ชีวิตของผู้ป่วย โดยผู้ป่วยที่เข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ คือ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและ/หรือใส่ขดลวดร่วมด้วย (Percutaneous Coronary Angioplasty)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Bypass Surgery)
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจ
- ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดแดงใหญ่ (Non-Coronary Cardiac Surgery)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันและเรื้อรัง (Acute Coronary Syndrome, Chronic or Stable Angina Pectoris)
- ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจและหลอดเลือดอื่น ๆ
ระยะของการฟื้นฟูหัวใจ
การฟื้นฟูหัวใจแบ่งเป็น 3 ระยะ ดังนี้
ระยะที่ 1 การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจขณะที่ผู้ป่วยยังอยู่ในโรงพยาบาล โดยทีมผู้เชี่ยวชาญด้านการฟื้นฟูหัวใจจะเข้าเยี่ยมผู้ป่วย ให้คำแนะนำเกี่ยวกับตัวโรค การฟื้นตัว และให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยและญาติ ทั้งนี้เป้าหมายเพื่อการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นขณะที่พักรักษาตัวที่โรงพยาบาล และการส่งเสริมให้มีการเคลื่อนไหวและการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น ลดระยะเวลาการพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล
ระยะที่ 2 การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจแบบผู้ป่วยนอกหลังออกจากโรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตามนัดเพื่อตรวจติดตามและปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามความเหมาะสม เป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีระดับความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมให้สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน ทำงาน การขับรถหรือการทำกิจกรรมต่างๆ ตามแต่ละเป้าหมายของผู้ป่วยได้
ระยะที่ 3 การฟื้นฟูหัวใจอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งเน้นไปที่การคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำกิจกรรม สมรรถภาพร่างกาย ความแข็งแรงและการลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องการเกิดโรคหัวใจซ้ำ
การควบคุมปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด
“ปัจจัยเสี่ยง” คือ ปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการตีบหรืออุดตันของหลอดเลือดหัวใจได้เร็วและรุนแรงขึ้น ซึ่งพบว่ายิ่งมีปัจจัยเสี่ยงหลายข้อ โอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบจะยิ่งมากขึ้นหลายเท่า นอกจากการออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจดังที่ได้กล่าวมาแล้วหากผู้ป่วยสามารถควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ได้ก็จะสามารถลดความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบได้เช่นกัน โดยปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบสามารถแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
1.ปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถควบคุมได้ (ไม่สามารถแก้ไขได้) ได้แก่
อายุ: โดยปกติแล้วเมื่ออายุเพิ่มขึ้นความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดจะเพิ่มขึ้นด้วย
พันธุกรรม: ผู้ที่มีประวัติเกี่ยวกับคนในครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ จะมีความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากขึ้นกว่าปกติ
เพศ: ผู้ชายมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิง
2.ปัจจัยเสี่ยงที่สามารถควบคุมได้ (สามารถแก้ไขได้) ได้แก่
ความดันโลหิตสูง: หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเป็นระยะนานๆ โดยไม่ควบคุมจะทำให้หัวใจทำงานหนัก ส่งผลทำให้กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เกิดภาวะหัวใจโต หลอดเลือดหัวใจตีบแข็งและอุดตันได้ ดังนั้น ผู้ป่วยควรควบคุมความดันซิสโตลิกให้น้อยกว่า 130 มิลลิเมตรปรอท ความดันไดแอสโตลิกน้อยกว่า 80 มิลลิเมตรปรอท
การสูบบุหรี่: ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ประมาณ 2 ถึง 4 เท่า เนื่องจากสารในบุหรี่จะไปรบกวนการทำงานของเยื่อบุหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรเลิกสูบบุหรี่อย่างถาวร
ระดับไขมันในเลือด: ในร่างกายเรามีไขมันหลายชนิดที่สำคัญ ได้แก่
- ไขมันแอลดีแอลโคเลสเตอรอล หรือ โคเลสเตอรอลชนิดร้าย เป็นไขมันตัวที่มีบทบาทสำคัญในการสะสมที่ผนังหลอดเลือดแดง ไขมันชนิดนี้ร่างกายสร้างเองส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งได้จากการรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ซึ่งผู้ป่วยควรควบคุมไขมันแอลดีแอลโคเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงควรควบคุมให้น้อยกว่า 70 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร)
- ไขมันเอชดีแอลโคเลสเตอรอล หรือ โคเลสเตอรอลชนิดดี ไขมันชนิดนี้เป็นตัวช่วยขนถ่ายโคเลสเตอรอลที่สะสมที่ผนังหลอดเลือดออกมาทำลาย จึงช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไขมันชนิดนี้ร่างกายจะสร้างขึ้นมาเอง และเพิ่มมากขึ้นในผู้ที่ออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรควบคุมไขมันเอชดีแอลโคเลสเตอรอล ให้มีค่ามากกว่า 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- ไขมันไตรกลีเซอไรด์ เป็นไขมันที่เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญ ได้จากการรับประทานอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาล และเนื้อสัตว์ที่เหลือจากการใช้งานรวมทั้งร่างกายสร้างขึ้นที่ตับ ซึ่งควรควบคุมให้น้อยกว่า 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
โรคเบาหวาน: เบาหวานเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 2 ถึง 8 เท่า เนื่องจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงในผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้หลอดเลือดที่ไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายเสื่อมลงจะส่งผลให้เกิดภาวะหลอดเลือดแดงแข็งได้ ซึ่งค่าระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารควรอยู่ระหว่าง 80 ถึง 110 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร และค่าระดับน้ำตาลสะสม (HbA1C) น้อยกว่า 7
การขาดการออกกำลังกาย: ผู้ที่ไม่ค่อยออกกำลังกายจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจสูงกว่าผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรออกกำลังกายเป็นประจำ และควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกายภาพบำบัดเกี่ยวกับการอกกำลังกายที่เหมาะสม
ภาวะอ้วน: หมายถึงผู้ที่มีดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร (คำนวณจากนำน้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลัง 2) หรือผู้ที่มีรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 90 เซนติเมตรในเพศชาย และมากกว่าหรือเท่ากับ 80 เซนติเมตรในเพศหญิง ดังนั้น การเลือกรับประทานที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น ปลา ผักและผลไม้ รวมถึงลดอาหารจำพวกไขมัน กะทิ หรืออาหารที่ปรุงด้วยการทอดด้วยน้ำมันหรือเนย จะช่วยทั้งเรื่องการควบคุมน้ำหนักตัว และระดับไขมันในเลือดได้
นอกจากที่กล่าวมาแล้ว การรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง การทำจิตใจให้สดชื่นผ่องใส ปราศจากความเครียด ก็เป็นปัจจัยสำคัญในการควบคุมและรักษาโรค รวมทั้งป้องกันการกลับมาเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดซ้ำอีก
การทดสอบสมรรถภาพทางการด้วยการเดิน 6 นาที
งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ