คำแนะนำการบริหารข้อไหล่ การทำกิจกรรม และการออกกำลังกายในผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ/เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ
คำแนะนำการบริหารข้อไหล่ การทำกิจกรรม และการออกกำลังกายในผู้ป่วยใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ/เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ
ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้ให้บริการผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยการใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝัง (Cardiac implantable electronic devices) ได้แก่ การรักษาด้วยการผ่าตัดฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker) เพื่อทำการรักษาภาวะหัวใจเต้นช้า เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Implantable cardioverter defibrillator) เพื่อทำการรักษาหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดจังหวะ และเครื่องกระตุ้นหัวใจชนิดปรับการทำงานกล้ามเนื้อหัวใจให้บีบตัวประสานกัน (Cardiac resynchronization therapy) เพื่อรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง
โดยภายหลังการผ่าตัดฝังเครื่องฯ นั้นกิจกรรมทางกายบางกิจกรรมจะถูกจำกัดในช่วงหนึ่งภายหลังการผ่าตัดฝังเครื่องฯ เพื่อเป็นการป้องกันการเลื่อนของตัวเครื่องหรือสายนำสัญญาณไฟฟ้าจากตำแหน่งที่แพทย์ทำการฝังเครื่องฯ ไว้ โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวข้อไหล่ด้านใส่เครื่องฯ รวมถึงการทำกิจกรรมทางกายบางกิจกรรม โดยผู้ป่วยภายหลังผ่าตัดใส่เครื่องฯ ควรต้องทำกิจกรรมทางกายที่มีความเหมาะสมต่อภาวะโรค โรคร่วม และโปรแกรมเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจชนิดฝังของผู้ป่วย ดังนั้นท่านควรปรึกษาแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลท่านในการทำกิจกรรมทางกาย ได้แก่ การขับรถ การมีเพศสัมพันธ์ การออกกำลังกายและการเล่นกีฬา ส่วนในโปรแกรมการเคลื่อนไหวข้อไหล่ด้านใส่เครื่องฯ ท่านสามารถทราบรายละเอียดด้วยการเลือกใช้งานเมนูด้านล่างนี้