0 4323 2700

4 นาที ยื้อชีวิตผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้น

 เพราะทุกๆ 1 ชั่วโมง คนไทย เสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันประมาณ 6 คน หรือเท่ากับเสียชีวิตมากถึง 54,000 คนต่อปี

ภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ โดยไม่จำกัดอายุและไม่อาจคาดการณ์ล่วงหน้า

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันกว่า 54,000 คน หรือเฉลี่ยแล้วเท่ากับเสียชีวิตประมาณ 6 คน ทุกๆ 1 ชั่วโมง ในทางการแพทย์ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันถือเป็น “ภัยเงียบ” ที่เกิดขึ้นกับใครก็ได้ ไม่เว้นแม้แต่คนที่ออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ

หากพบคนที่หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เรามีเวลาเพียงแค่ 4 นาทีเท่านั้น ที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยด้วยการทำ CPR (ปั๊มหัวใจผายปอดกู้ชีพ) เพราะทันทีที่หัวใจหยุดทำงาน เลือดจะไม่ถูกสูบฉีดไปเลี้ยงสมองทำให้สมองตายเนื่องจากขาดเลือดและออกซิเจน

*การทำ CPR ไม่ยากอย่างที่คิด แต่สิ่งที่สำคัญคือผู้ช่วยเหลือต้องไม่ตื่นเต้นตกใจ แล้วทำตามขั้นตอนต่อไปนี้

1.เมื่อพบคนหมดสติ ให้ตบไหล่พร้อมปลุกเรียก
2.ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว รีบตะโกนขอความช่วยเหลือและโทรแจ้ง 1669 (สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ)
3.เช็กดูว่าผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นหรือไม่ โดยเอาหูแตะบริเวณจมูกของคนไข้ ตามองที่หน้าอก หากหน้าอกคนไข้ไม่ขยับ หน้าท้องไม่กระเพื่อม แสดงว่าหยุดหายใจให้ปั๊มหัวใจทันที
4.สำหรับการปั๊มหัวใจ ให้ปั๊ม 100-120 ครั้งต่อนาที ปั๊มต่อเนื่องนาน 2 นาที แล้วสลับคนปั๊ม ควรปั๊มไปเรื่อยๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง
5.ในขณะเดียวกัน ถ้าในสถานที่เกิดเหตุมีเครื่อง AED (เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ) ให้รีบไปนำมาช่วยผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
6.ส่วนวิธีการใช้เครื่อง AED นั้น ให้กดปุ่มเปิดเครื่อง แปะแผ่นนำไฟฟ้าในตำแหน่งที่ลูกศรบอก จากนั้นทำตามที่เครื่องสั่งระหว่างรอทีมกู้ภัย
ถ้าทำ CPR พร้อมกับใช้เครื่อง AED สามารถเพิ่มโอกาสรอดชีวิตได้ 10 เท่า

CPR เป็นการกดนวดหัวใจเพื่อกระตุ้นอัตราการไหลเวียนของเลือด ส่วนการผายปอดคือการช่วยเติมออกซิเจนเข้าไป แต่ไม่ได้ทำให้หัวใจกลับมาทำงาน ดังนั้น AED หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจจึงมีความสำคัญ เพราะการทำงานของเครื่อง AED คือปล่อยกระแสไฟฟ้าไปกระตุกหัวใจของผู้ป่วยให้กลับมาเต้นอีกครั้ง

“ในกลุ่มคนไข้ที่หมดสติแล้วมีภาวะหัวใจหยุดเต้น การทำ CPR อย่างเดียวอัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ประมาณ 3-5 เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าใช้เครื่อง AED ร่วมด้วยอัตราการรอดชีวิตเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 10 เท่า” เพราะโรคหัวใจ บางชนิดสามารถตรวจทราบสาเหตุได้ แต่บางชนิดก็ไม่อาจทราบ เพราะสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติมีมากมาย โรคเหล่านี้ถือเป็น “ภัยเงียบ” ดังนั้นแม้ผู้ป่วยจะดูแลสุขภาพอย่างดี ออกกำลังกายดี โรคเหล่านี้ก็อาจเกิดขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแคลนเครื่อง AED ในพื้นที่สาธารณะ โดยเฉพาะพื้นที่ต่างจังหวัด นอกจากนั้นคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังขาดความเข้าใจวิธีการทำ CPR และใช้เครื่อง AED ทำให้ผู้พบเห็นเหตุการณ์คนแรกๆ ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทันเวลา

****************************

.

Read 79917 times

ติดต่อเรา

0 4323 2700  อัตโนมัติ 

The following link is provided to report a patient safety or quality-of-care concern to JCI

ติดตามเรา