ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

     โรงพยาบาลเฉพาะทาง โรคหัวใจและหลอดเลือด ขนาด 200 เตียง ให้บริการผู้ป่วยปีละประมาณ 142,000 ราย การให้บริการตรวจรักษาได้มาตรฐานสากล JCI ,HA ให้บริการตรวจรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดทั้งเด็กและผู้ใหญ่ บริการผู้ป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงรักษาผู้ป่วยโดยวิธีการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดและปิด รวมทั้งตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีการทำหัตถการ ขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน ใส่ขดลวดค้ำยัน รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะด้วยวิธี Electrophysio Study & Radio Frequency Ablation เป็นที่แรกและที่เดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางทั้งทางการแพทย์มีการให้บริการวิชาการและวิจัย ทางด้านโรคหัวใจและหลอดเลือดระดับตติยภูมิชั้นสูง และขยายภารกิจไปในระดับภูมิภาคอาเซียน เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้พ้นความทุกข์ทรมานจากโรคภัยซึ่งเป็นการตอบสนองน้ำพระทัยแด่องค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯที่ทรงห่วงใยพสกนิกรชาวไทย และเพื่อคุณภาพชีวิตของคนไทยที่ดีขึ้นต่อไป

  • ศูนย์โรคหัวใจคุณค่าต่อสังคม และมวลมนุษยชาติ
  • ตรวจรักษาจากทีมแพทย์ เฉพาะทาง แพทย์ผู้เชียวชาญด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ให้บริการผู้ป่วยดุจญาติมิตร การเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วย ด้วยหัวใจที่เกื้อกูล มีมาตรฐานความปลอดภัยเป็นเลิศ มีมนุษยธรรม และมุ่งเน้นผู้รับบริการ

ความเป็นมา

     ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง 10 ชั้น(รวมชั้นใต้ดิน) ริเริ่มก่อตั้งโดย รองศาสตราจารย์นายแพทย์นภดล ทองโสภิต อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นประธานกรรมการจัดตั้งศูนย์โรคหัวใจ โดยได้ขอพระราชทานอัญเชิญพระนามสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นชื่อสถาบันแห่งนี้ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่สถาบัน ซึ่งพระองค์ได้ทรงมีพระเมตตาพระราชทานนามสถาบันแห่งนี้ว่า ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ Queen Sirikit Heart Center of the Northeast เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2534 และมีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2535.

วัตถุประสงค์การก่อตั้ง 

  • เพื่อเฉลิมฉลองเนื่องในวโรกาสมหามงคล สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมายุครบ 60 พรรษา
  • เพื่อเป็นศูนย์ป้องกันบำบัดรักษาตลอดจนศึกษาวิจัยโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

     ปัจจุบันโครงสร้างการบริหารงาน (ตามพระราชฎีกา จัดตั้งส่วนราชการในมหาวิทยาลัยขอนแก่น กระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2554 เล่ม 128 ตอน 48 ก วันที่ 13 มิถุนายน 2554 ) ได้กำหนดให้ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เข้ารวมเป็นหน่วยงานในสังกัดคณะแพทยศาสตร์ มีฐานะเทียบเท่าภาควิชา โครงสร้างการบริหารงานมีผู้อำนวยการศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ เป็นผู้บังคับบัญชา และคณบดีเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด มีคณะกรรมการต่างๆ กำกับดูแลการบริหารงาน และนโยบาย ได้แก่ คณะกรรมการประจำคณะแพทยศาสตร์ กรรมการบริหารคณะแพทยศาสตร์ และคณะกรรมการบริหารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ

ตราสัญลักษณ์

การให้บริการผู้ป่วย

     อาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2549 มีห้องตรวจผู้ป่วยนอกทั้งหมด 16 ห้องตรวจ เปิดให้บริการวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 07.30-16.30 น. บริการตรวจรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยให้บริการ ณ ห้องตรวจผู้ป่วยฉุกเฉิน พร้อมนี้ได้เปิดให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ วันจันทร์-วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 16.30-20.00 น. และวันเสาร์ตั้งแต่เวลา 08.00 -12.00 น.

     บริการตรวจรักษาผู้ป่วยใน เริ่มตั้งแต่เปิดให้บริการตั้งแต่ มีนาคม 2545 - มีนาคม 2546 จำนวน 10 เตียง โดยใช้พื้นที่ ณ อาคารชั่วคราวคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ต่อมาในได้ย้ายมาเปิดให้บริการ ณ อาคารชั่วคราว ศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ และเริ่มรักษาผู้ป่วยโดยวิธีผ่าตัดหัวใจแบบเปิด เดือนมกราคม 2547 ขยายการบริการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีการผ่าตัดหัวใจแบบเปิดและแบบปิด โดยเช่าพื้นที่บริเวณชั้น 3 อาคารโรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ ซึ่งขณะนั้นมีห้องผ่าตัด 2 ห้อง เตียงผู้ป่วยวิกฤ จำนวน 6 เตียง เตียงผู้ป่วยกึ่งวิกฤต จำนวน 6 เตียง จนกระทั่งเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ได้ย้ายมาเปิดให้บริการที่อาคารศูนย์หัวใจสิริกิติ์ฯ 

     ด้านการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีทำหัตถการ เริ่มให้บริการตรวจสวนหัวใจ ตั้งแต่ปี 2539 ปัจจุบันขยายการบริการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยครบวงจรตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยวิธีการขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน การใส่ขดลวดค้ำยัน การรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยวิธี Electrophysio Study & Radio Frequency Ablation เป็นที่แรกและที่เดียวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ