0 4323 2700

การฟื้นฟูหัวใจระยะที่ 2 และ 3

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 และ 3 แบบผู้ป่วยนอกหลังออกจากโรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตามนัด

การฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจระยะที่ 2 และ 3 แบบผู้ป่วยนอกหลังออกจากโรงพยาบาล โดยแพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยมาตามนัดเพื่อตรวจติดตามและปรับเปลี่ยนโปรแกรมตามความเหมาะสม

     ทั้งนี้ผู้ป่วยจะได้รับการตรวจร่างกาย ประเมินสมรรถภาพทางกาย ข้อห้าม ข้อควรระวังเพื่อการวางแผนและกำหนดรูปแบบการฟื้นฟูหัวใจที่เหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยมีระดับความสามารถในการทำกิจกรรมเพิ่มขึ้น เตรียมพร้อมให้สามารถกลับไปทำกิจวัตรประจำวัน ทำงาน การขับรถหรือการทำกิจกรรมต่างๆตามแต่ละเป้าหมายของผู้ป่วยได้ ทั้งนี้ยังมุ่งเน้นไปที่การคงไว้ซึ่งความสามารถในการทำกิจกรรม สมรรถภาพร่างกาย ความแข็งแรงและการลดปัจจัยเสี่ยงเพื่อป้องการเกิดโรคหัวใจซ้ำ

     การออกกำลังกายที่ถูกต้องและปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย ควรออกกำลังกายโดยแบ่งช่วงของการออกกำลังกายออกเป็น 3 ช่วง ได้แก่

ช่วงที่ 1 การอบอุ่นร่างกาย (Warm Up)

     ใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที ประกอบด้วย การบริหารร่างกายท่าละ 10 ครั้ง (ดังภาพตัวอย่าง) หรือการเดินช้าๆ เพื่อเตรียมการทำงานของระบบการไหลเวียนโลหิตและกล้ามเนื้อให้พร้อมสำหรับการออกกำลังกายและลดอาการบาดเจ็บที่เกิดต่อกล้ามเนื้อ เอ็น หรือข้อต่อได้ ทั้งนี้การอบอุ่นร่างกายอาจต้องใช้เวลานานขึ้นโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง หรือผู้ป่วยที่มีความสามารถในการบีบตัวของหัวใจต่ำกว่าปกติ

ช่วงที่ 2 การออกกำลังกายอย่างต่อเนื่อง

     ในระยะแรกแนะนำเป็นการออกกำลังกายด้วยการเดิน จากนั้นหากผู้ป่วยสามารถออกกำลังกายด้วยการเดินได้เป็นอย่างดี สามารถเปลี่ยนรูปแบบการออกกำลังกายด้วยวิธีอื่นๆ เช่น ปั่นจักรยาน เป็นต้น ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรมีระยะเวลาในการออกกำลังกายรวมให้ได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์ (วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์) หากผู้ป่วยไม่สามารถออกกำลังกายถึง 30 นาทีต่อเนื่อง สามารถแบ่งการออกกำลังกายเป็นช่วงและนับรวมระยะเวลาได้ โดยมีข้อแม้ว่าการออกกำลังกายแต่ละช่วงต้องมีระยะเวลาไม่น้อยกว่า 10 นาที จึงจะมีประโยชน์ต่อการฟื้นฟูสมรรถภาพหัวใจ การเริ่มต้นออกกำลังกายในระยะแรกหลังออกจากโรงพยาบาลจะเป็นการออกกำลังกายที่ระดับเบาถึงปานกลาง โดยมีหลักการกำหนดความหนักของการออกกำลังกาย คือ ผู้ป่วยควรออกกำลังกายในระดับที่เริ่มรู้สึกเหนื่อยถึงค่อนข้างเหนื่อยเท่านั้น สังเกตได้จากผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยแต่ยังสามารถพูดคุยโต้ตอบเป็นประโยคยาวๆ ได้โดยไม่ต้องหยุดพักหายใจ หรือให้ชีพจรขณะออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจากชีพจรขณะพักไม่เกิน 20 ถึง 30 ครั้งต่อนาที

ช่วงที่ 3 การผ่อนคลาย (Cool Down)

     หลังจากหยุดออกกำลังกาย หากผู้ป่วยหยุดออกกำลังกายทันทีจะส่งผลให้เลือดที่หมุนเวียนไปเลี้ยงร่างกายในขณะนั้น ไหลกลับคืนสู่หัวใจไม่ทัน ส่งผลให้ปริมาตรเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจน้อยลงไปด้วย ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรค่อยๆลดความเร็วในการเดิน หรือปรับลดความหนักของการออกกำลังกายลงช้าๆ โดยจะใช้เวลาประมาณ 5 ถึง 10 นาที ในช่วงของการผ่อนคลาย เพื่อป้องกันอาการเวียนศีรษะ หน้ามืด หรือเป็นลม

ดาวน์โหลดเอกสาร

คู่มือการฟื้นฟูหัวใจ ฉบับภาษาไทย

Cardiac Rehabilitation handbook: English version

Read 7369 times

ติดต่อเรา

0 4323 2700  อัตโนมัติ 

The following link is provided to report a patient safety or quality-of-care concern to JCI

ติดตามเรา