0 4323 2700

คำแนะนำในผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

 การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดเขียว

     เด็กกลุ่มนี้อาการเขียวอาจเป็นตั้งแต่แรกเกิดหรือค่อยๆ เป็นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาร้องไห้บางรายอาจมีอาการเขียวคล้ำ กวนมาก หายใจหอบลึก และอาจมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติได้ ส่วนใหญ่มักจะเกิดในเด็กเล็กๆ ก่อนอายุ 2 ปีมักเป็นตอนเช้าๆ หรือหลังร้องไห้นานๆ เมื่อโตขึ้นเด็กกลุ่มนี้จะตัวเล็ก หอบ เหนื่อยง่ายเวลาออกกำลังกายหรือเดินนานๆ เด็กมักจะชอบนั่งยองๆ

 ด้านโภชนาการ 

     ในเด็กที่เป็นโรคหัวใจและไม่มีอาการ ให้การดูแลเช่นเด็กปกติ ให้อาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่เด็กที่เขียวควรให้อาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น เนื้อสัตว์ เพื่อให้ร่างกายสร้างฮีโมโกลบินได้พอเพียงกับปริมาณของเม็ดเลือดแดง เพื่อป้องกันการเกิดอาการทางสมอง

 การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน 

     ไม่ว่าเด็กจะเป็นโรคหัวใจชนิดใดให้ได้เช่นเด็กปกติ แต่ควรเลือกช่วงเวลาที่เด็กสบายๆ ไม่มีการเจ็บป่วยหนักขณะนั้น

 การออกกำลังกาย 

     ในกลุ่มเด็กที่ไม่มีอาการทำได้เช่นปกติ (ยกเว้นบางกรณี เช่น มีการเต้นผิดจังหวะของหัวใจบางชนิด หรือลิ้นหัวใจตีบ หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ถึงแม้เด็กจะไม่มีอาการเมื่ออยู่เฉยๆ แต่อาจมีอาการมากมีอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เมื่อออกกำลังกาย ควรปรึกษาขอคำแนะนำจากแพทย์ให้ชัดเจนว่าสามารถออกกำลังกายได้แค่ไหน เล่นกีฬาแข่งขันได้หรือไม่ ในกลุ่มเด็กที่มีอาการส่วนใหญ่เด็กมักจะจำกัดตัวเองอยู่แล้วก็ควรปล่อยไปตามธรรมชาติ แต่ก็ต้องไม่ให้เด็กหักโหม

 การป้องกันโรคแทรกซ้อน 

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการติดเชื้อจากฟัน, ช่องปาก, ช่องหู ต้องดูแลสุขภาพฟันให้ดีรับประทานยาปฏิชีวนะก่อนการทำฟัน ในเด็กที่เขียวควรระวังอย่าให้เด็กเสียน้ำมากเวลามีอาการท้องเสียอาเจียน หากมีอาการตัวเกร็งเป็นลมหมดสติให้ดูแลเด็กก่อนพามาโรงพยาบาล ดังนี้ พยายามทำให้เด็กสงบหยุดร้องไห้ ชันเข่าเด็กงอชิดหน้าอกหรืออุ้มพาดบ่า และรีบพาเด็กไปโรงพยาบาล

 การรับประทานยา 

    ดูแลให้ผู้ป่วยรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

 อาการที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนนัด

     อาการที่ต้องมาพบแพทย์ก่อนวันนัด ได้แก่ เขียวมากขึ้น หายใจหอบลึกมากขึ้น ซึมเพลีย ตัวอ่อนปวกเปียก การรักษาขั้นต้นที่ผู้ปกครองสามารถกระทำได้ คือให้ปลอบ เด็กให้หยุดร้องไห้งอเข่าเด็กทั้ง 2 ข้างคู้เข้าชิดหน้าอกอาจจะอุ้มขึ้นแนบอก กรณีเป็นเด็กเล็ก ถ้าเป็นเด็กโตให้นอนตะแคงเข่าคู้ชินหน้าอกให้มากที่สุด ถ้าได้ผลผู้ป่วยจะหายใจดีขึ้นริมฝีปากเริ่มกลับมาเป็นเหมือนปกติก่อนเกิดอาการ ถ้าหากทำวิธีดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้น ให้รีบพาผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านให้เร็วที่สุด เพื่อให้ออกซิเจนและยา และอาการอื่นๆ เช่น วูบหมดสติ ชักเกร็ง มีไข้ ปวดศีรษะ หมดสติ

Read 11149 times

ติดต่อเรา

0 4323 2700  อัตโนมัติ 

The following link is provided to report a patient safety or quality-of-care concern to JCI

ติดตามเรา